ISO 27001:2013
ข่าวและกิจกรรมเกี่ยวกับโครงการ SMEs Pro-active
นายสมเด็จ สุสมบูรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า สินค้าเครื่องปรุงรสอาหารไทยได้รับความต้องการในตลาดอย่างต่อเนื่อง ทำให้มีแนวโน้มเติบโตในระยะยาว จากสถิติการส่งออก 3 เดือนแรกของปี 2563 ไทยส่งออกเครื่องปรุงรสอาหารเป็นมูลค่าสูงถึง 207.64 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 12.05 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562 โดยมีเอเชียเป็นตลาดส่งออกหลัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศจีน ซึ่งอุตสาหกรรมเครื่องปรุงรสเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่สำคัญจึงเป็นโอกาสดีที่ผู้ประกอบการไทยต้องเฝ้าจับตามองและเตรียมพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวอย่างใกล้ชิด
“ตลาดจีนเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดในโลก กำลังซื้อสูง ซอสและเครื่องปรุงรสจากไทยได้รับความนิยมอย่างมาก อีกทั้งจีนเป็นประเทศที่อยู่ภายใต้ความตกลงการค้าเสรีหรือ FTA ที่ยกเลิกการเก็บภาษีนำเข้าสินค้าเครื่องปรุงรสอาหารจากไทย จึงเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ช่วยหนุนให้สินค้าเครื่องปรุงรสอาหารของไทยเติบโต โดยเฉพาะเมื่อเกิดสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 (COVID-19) ทำให้เกิดรูปแบบทางเศรษฐกิจที่ใหม่อย่าง Stay at Home Economy ตามพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป หันมาบริโภคที่บ้าน นอกจากการทำงานและการเสพความบันเทิงแล้ว การประกอบอาหารรับประทานเองในครัวเรือนยังเป็นกิจวัตรประจำวันที่เพิ่มมากขึ้น และคาดว่าจะยังคงมีแนวโน้มเช่นนี้ต่อไปอีกระยะหนึ่ง ส่งผลให้เครื่องปรุงรสอย่าง ซอสพริก ซอสถั่วเหลือง น้ำปลา เครื่องแกง และผงปรุงรส ได้รับความนิยมมากขึ้นตามไปด้วย” นายสมเด็จกล่าว
ทั้งนี้ เครื่องปรุงรสเป็นผลิตภัณฑ์ที่ผู้บริโภคจีนเป็นต้องใช้ทุกวัน วันละ 3 เวลา ถือเป็นจิตวิญญาณของรสชาติอาหารจีนที่ทุกครัวเรือนต้องมี หลายปีที่ผ่านมานี้ อุตสาหกรรมเครื่องปรุงรสมีการพัฒนาอย่างรวดเร็วเนื่องจากผู้บริโภคมีความต้องการในการแสวงหาคุณภาพชีวิตที่ดีได้รับประทานอาหารที่มีรสชาติอร่อยจนกลายเป็นไอเทมที่สำคัญในชีวิตประจำวันส่งผลดีต่อภาคธุรกิจและกลายเป็นที่ชื่นชอบของนักลงทุนรายใหม่ๆ ที่ต้องการขยายธุรกิจมากขึ้นตามไปด้วย
ข้อมูลจาก สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (สคต.) ณ ชิงต่าว ประเทศจีน แสดงให้เห็นแม้ว่าการระบาดของโรคโควิด-19จะส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุตสาหกรรมเครื่องปรุงรสอยู่บ้าง เนื่องจากเป็นอุตสาหกรรมที่ต้องพึ่งพาร้านอาหารและธุรกิจท่องเที่ยว แต่อีกนัยหนึ่งก็ถือเป็นโอกาสของธุรกิจเครื่องปรุงรส เนื่องจากผู้บริโภคที่ไม่สามารถออกจากบ้าน เริ่มหันมาประกอบอาหารรับประทานเอง ทำให้ความต้องการในการบริโภคเครื่องปรุงรสในครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้น และส่งผลให้ช่องทางการจับจ่ายของผู้บริโภคผ่านทางออนไลน์ขยายตัวได้มากขึ้นตามไปด้วยซึ่งแนวโน้มพฤติกรรมดังกล่าวจะยังคงติดตัวผู้บริโภคไปตลอดแม้ว่าสถานการณ์ของการระบาดจะสงบลงจึงเป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการไทยที่ไม่ควรมองข้ามพฤติกรรมการบริโภคของผู้บริโภคชาวจีนภายใต้สถานการณ์เหล่านี้ โดยควรวิเคราะห์และเจาะตลาด Stay at Home Economy เชิงลึกเพื่อพัฒนาและปรับปรุงผลิตภัณฑ์ให้สอดคล้องกับพฤติกรรมและความต้องการของผู้บริโภคยกระดับรูปแบบการจำหน่ายทางออนไลน์ให้มีความหลากหลายเพราะพฤติกรรมการเลือกซื้อและความนิยมบริโภคผลิตภัณฑ์เครื่องปรุงรสในช่วงเวลาเหล่านี้ มีแนวโน้มจะกลายเป็นความเคยชินของลูกค้าบางกลุ่มรวมทั้งติดตามรูปแบบเทคโนโลยีที่ช่วยในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ โดยเฉพาะเรื่องการนำบิ๊กดาต้า (Big Data) ที่เกิดขึ้นจากการซื้อสินค้าบนแพลตฟอร์มออนไลน์ในช่วงนี้มาวิเคราะห์ทิศทางและแนวโน้มของตลาดความนิยมและพฤติกรรมในการเลือกซื้อสินค้าตลอดจนนำมาสร้างกลยุทธ์ในการพัฒนาองค์กรควบคู่กันได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นเพื่อนำไปสู่การยกระดับผลิตภัณฑ์เครื่องปรุงรสของไทยสู่ตลาดโลก และสามารถครองส่วนแบ่งตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืนต่อไป
นายสมเด็จ ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า “สิ่งสำคัญที่สุดคือคุณภาพของสินค้าที่จะต้องรักษามาตรฐาน และการมีจุดยืนของผลิตภัณฑ์ซึ่งเป็นรากฐานของการสร้างความแตกต่าง อาทิ ผลิตภัณฑ์สำหรับผู้บริโภคระดับสูง กลาง และระดับล่าง หรือผลิตภัณฑ์ที่ขายในท้องถิ่นกับผลิตภัณฑ์ที่ถูกพัฒนาให้เข้าสู่ช่องทางอีคอมเมิร์ซก็ย่อมมีความแตกต่างทั้งรูปลักษณ์และราคาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เช่นกัน”
สำหรับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเครื่องปรุงรสที่สนใจเข้าร่วมงานแสดงสินค้าเพื่อเจาะตลาดจีนสามารถเข้าร่วมโครงการส่งเสริมและเพิ่มศักยภาพของผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ SMEs Pro-active โดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศสามารถศึกษาข้อมูลและหลักเกณฑ์โครงการเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์โครงการฯ https://smesproactive.ditp.go.th/ หรือสอบถามรายละเอียดได้ที่ 02-507-7783 หรือ 02-507-7786