ISO 27001:2013
ข่าวและกิจกรรมเกี่ยวกับโครงการ SMEs Pro-active
ชาวชิลีนิยมสวมใส่เครื่องประดับในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นต่างหู สร้อยคอ แหวนและกำไล (ไม่รวมแหวนหมั้นและแหวนแต่งงาน) และหากแบ่งพฤติกรรมการใช้เครื่องประดับตามช่วงอายุจะพบว่า สตรีชาวชิลีอายุระหว่าง 18-45 ปี นิยมเครื่องประดับเงิน เนื่องจากมีราคาไม่สูงนัก สามารถสวมใส่ได้ทุกวันและไม่อันตราย ในขณะที่ผู้มีอายุมากกว่า 45 ปีขึ้นไป นิยมเครื่องประดับทองที่มีกะรัตไม่สูงมากนัก คือทองคำ 18-24 กะรัต เนื่องจากสีของทองคำที่มีกะรัตสูงนั้นดูเหลืองมากเกินไป จึงไม่เป็นที่นิยมในชิลี จากผลการสำรวจข้อมูลของสมาคมผู้ประกอบการสินค้าเครื่องประดับและอัญมณีของชิลี (Asociación Gremial Joyeros, Relojeros y Afines de Chile) ระบุว่าสไตล์ของชาวชิลีนั้น นิยมเครื่องประดับที่เรียบง่าย มีดีไซน์ไม่หวือหวา และสำหรับแหวนหมั้นนิยมเลือกซื้อแหวนที่ตัวเรือนทำจากแพลทินัมและประดับด้วยเพชรที่มีกะรัตไม่สูงนัก หรือขนาดเพชรไม่ใหญ่มากแต่มีจำนวนหลาย ๆ เม็ด (แตกต่างจากไทยที่นิยมประดับด้วยเพชรเม็ดใหญ่และเน้นการออกแบบที่ทันสมัยเป็นหลัก) และแหวนแต่งงานจะเป็นทองคำเกลี้ยงโดยมักจะแกะสลักชื่อบุคคลลงไปด้วย ข้อมูลของ World Trade Atlas รายงานว่าชิลีนำเข้าสินค้าเครื่องประดับและอัญมณี ในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ (เดือนมกราคม - พฤษภาคม 2563) อยู่ที่ 17.76 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยนำเข้าจากไทยมากที่สุด คิดเป็น ร้อยละ 27.50 รองลงมา คือ จีน สหราชอาณาจักร อิตาลี เปรู และสหรัฐอเมริกา ตามลำดับ ซึ่งประเทศไทยนั้นเป็นแหล่งนำเข้าลำดับ 1 ของชิลี นับตั้งแต่ปี 2018 เป็นต้นมา
ด้าน นายสมเด็จ สุสมบูรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ ให้ข้อมูลว่า ภาพรวมของการส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับทั้งหมดของไทย ในช่วงเดือนมกราคม-มิถุนายน 2563 มีมูลค่า 10,077.84 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 39.09 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปี 2562 เนื่องจากการส่งออกทองคำที่ยังไม่ขึ้นรูปเพิ่มขึ้นร้อยละ 131.18 มูลค่าส่งออกไปยังตลาดหลัก เช่น สวิตเซอร์แลนด์ สิงคโปร์ และฮ่องกง เพิ่มขึ้นร้อยละ 84.97 โดยประเทศไทยมีจุดแข็งด้านอุตสาหกรรมกลุ่มนี้ เนื่องจากผู้ส่งออกมีความเข้าใจตลาดและผู้ค้าในตลาดโลกรู้จักไทยมากกว่าคู่แข่ง เป็นตลาดค้าพลอยสีที่ใหญ่แห่งหนึ่งของโลก อีกทั้งช่างมีฝีมือไทยประณีตในการออกแบบและขึ้นรูปเครื่องประดับ “แม้ไทยจะเป็นประเทศที่ชิลีนำเข้าเครื่องประดับและอัญมณีมากที่สุด แต่ก็ยังมีคู่แข่งด้านราคาอยู่ ไม่ว่าจะเป็น จีน อินเดีย หรืออินโดนีเซีย ดังนั้นผู้ประกอบการไทยต้องมีกลยุทธ์ที่เข้มข้นเพื่อรักษาและเพิ่มส่วนแบ่งตลาดเครื่องประดับแท้ในตลาดชิลีจึง เช่นการพัฒนาคุณภาพสินค้า การสร้างแบรนด์สินค้าของตนเอง รวมถึงการวางแผนเพื่อพัฒนาสินค้าสู่ตลาดระดับกลาง-บนให้มากขึ้น และพัฒนาสินค้าให้แตกต่างจากคู่แข่ง เน้นความมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว นอกจากนี้ยังสามารถอาศัยชิลีเป็นฐานในการกระจายสินค้าเครื่องประดับไปยังประเทศอื่น ๆ ในแถบลาตินอเมริกาที่มีการดำเนินการค้าภายใต้เขตการค้าเสรีกับชิลีได้ด้วย”
การเข้าร่วมงานแสดงสินค้านานาชาติ จะเป็นการขยายตลาดให้ผู้ประกอบการได้เป็นอย่างดี โดยประเทศไทยมีงานแสดงสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ หรือ Bangkok Gems & Jewelry Fair ที่ยิ่งใหญ่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ซึ่งปีนี้ได้ปรับรูปแบบให้เข้ากับสถานการณ์เป็น Virtual Exhibition หรืองานแสดงสินค้าออนไลน์ที่ครบวงจรที่สุด ภายใต้ชื่องาน BGJF Special Edition - On Ground to Online Exhibition ในวันที่ 2-4 พ.ย. 63 โดยผู้ซื้อและผู้ขายจากนานาประเทศทั่วโลกจะมาสร้างโอกาสทางธุรกิจร่วมกัน หรือผู้ประกอบการไทยที่สนใจเข้าร่วมงานแสดงสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับในต่างประเทศ สามารถสอบถามรายละเอียดและเข้าร่วมโครงการ SMEs Pro-active ได้ที่เว็บไซต์ https://smesproactive.ditp.go.th/ หรือ Facebook Page: SMEs Pro-active by DITP สอบถามรายละเอียดได้ที่ 02-507-7783 และ 02-507-7786