ISO 27001:2013
ข่าวและกิจกรรมเกี่ยวกับโครงการ SMEs Pro-active
‘การกำหนดกลุ่มเป้าหมาย’ คือขั้นตอนพื้นฐานที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งในการทำการตลาด โดยเกณฑ์ที่นักการตลาดมักนำมาใช้ในการแบ่งกลุ่มเป้าหมายนั่นก็คือ ‘อายุ’ หรือ ‘ช่วงวัย’ นั่นเอง เพราะผู้บริโภคแต่ละช่วงวัยนั้นต่างเติบโตมาพร้อมกับประสบการณ์ชีวิตที่แตกต่างกัน ซึ่งนั่นก็ทำให้นักการตลาดสามารถประเมินเบื้องต้นได้ว่าผู้บริโภคในแต่ละช่วงวัยนั้นมีพฤติกรรมและความชอบแตกต่างกันในภาพรวมอย่างไร
วันนี้ SMEs Pro-active จึงจะมาแนะนำถึงพฤติกรรมของผู้บริโภค 2 กลุ่ม ที่จะก้าวขึ้นมาเป็นกลุ่มตลาดที่ใหญ่ที่สุดของแคนาดาในอนาคต ได้แก่ ผู้บริโภค ‘Gen Z’ ซึ่งเกิดระหว่างปี 1996-2012 และผู้บริโภค ‘Gen Y’ หรือ ‘Millennials’ ซึ่งเกิดระหว่างปี 1981-1995 โดยทั้งสองกลุ่มต่างเป็นผู้บริโภคยุคใหม่ที่เติบโตมาพร้อมกับโลกดิจิทัล เทคโนโลยี อินเทอร์เน็ต และโซเซียลมีเดีย ที่ผู้ประกอบการไทยควรศึกษาและนำไปปรับใช้กับแบรนด์ของตนเองจะมีอะไรน่าสนใจบ้าง ไปดูพร้อมๆ กัน
ประสบการณ์ลูกค้า (Customer Experience) vs การส่งเสริมการขายออนไลน์ (Online Promotion)
‘Customer Experience’ หรือ ‘ประสบการณ์ลูกค้า’ นั้นเป็นปัจจัยที่มีบทบาทสำคัญต่อการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภคเสมอมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้บริโภคกลุ่ม Gen Y ที่มักให้ความสำคัญและยินดีที่จะจ่ายเพิ่มขึ้นเมื่อได้รับ ‘ประสบการณ์ร่วม’ กับสินค้าหรือบริการนั้น ๆ เช่น การชมการสาธิตสินค้า การชิมและทดลองทำอาหาร หรือการทดลองเครื่องสำอางภายในห้างสรรพสินค้าด้วยตนเอง เป็นต้น สอดคล้องกับพฤติกรรมของชาว Gen Y ที่ชื่นชอบการท่องเที่ยว ความท้าทาย และการมีปฏิสัมพันธ์ร่วมกับผู้อื่นนอกสถานที่นั่นเอง
แตกต่างจากผู้บริโภค Gen Z ที่มักไม่ได้ให้ความสำคัญกับ ‘ประสบการณ์ร่วม’ เท่ากับชาว Gen Y แต่จะระมัดระวังการใช้เงินมากกว่า โดยนิยมซื้อสินค้าราคาประหยัดผ่าน ‘ดีลสินค้าโปรโมชั่น’ ในช่องทางออนไลน์ สอดคล้องกับพฤติกรรมของชาว Gen Z ที่ใช้เวลาส่วนมากไปกับมือถือ โซเชียลมิเดีย และการซื้อสินค้าออนไลน์นั่นเอง
ความภักดีต่อแบรนด์ (Brand Loyalty) vs ความคุ้มค่าของสินค้า (Product Value)
หลายครั้งที่ผู้บริโภคมักเลือกจะซื้อสินค้าชิ้นหนึ่งจากความน่าเชื่อถือของ ‘แบรนด์’ ที่มีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักกันมาอย่างยาวนาน แต่ไม่ใช่กับผู้บริโภครุ่นใหม่อย่างชาว Gen Z ที่มักจะให้ความสำคัญกับ ‘Brand Loyalty’ น้อยกว่าผู้บริโภคกลุ่ม Gen Y เป็นอย่างมาก โดยชาว Gen Z นั้นเลือกที่จะให้ความสำคัญกับ ‘ความคุ้มค่าของสินค้า’ หรือ ‘Product Value’ เป็นหลัก เนื่องด้วยชาว Gen Z นั้นมีทักษะทางดิจิทัลที่ทำให้สามารถเข้าถึงข้อมูลได้หลายช่องทาง ประกอบกับแนวคิดแบบ Critical Thinking ที่ทำให้ชาว Gen Z ไม่เชื่อคำโฆษณาสินค้าในทันที แต่มักจะค้นหาข้อมูลเชิงลึกเพิ่มเติมก่อนเสมอ โดยก่อนจะเลือกซื้อสินค้าสักชิ้นนั้น ชาว Gen Z มักจะค้นหา Product Review จากผู้ใช้จริงผ่านอินเทอร์เน็ต เพื่อนำข้อดีและข้อเสียของสินค้าแต่ละแบรนด์มาเปรียบเทียบกันอย่างละเอียด โดยใช้ความน่าเชื่อถือของแบรนด์เป็นเพียงส่วนประกอบหนึ่งในการตัดสินใจซื้อเท่านั้น
มองโลกในแง่ดี (Idealistic) vs มองข้อเท็จจริง (Pragmatic)
สภาพเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปในแต่ละยุคสมัย ก็ส่งผลให้ผู้บริโภคมีพฤติกรรมและนิสัยที่แตกต่างกันไปด้วยเช่นกัน ตัวอย่างเช่น นิสัยแบบ ‘Idealistic’ ของผู้บริโภคกลุ่ม Gen Y ที่มักจะมองหาสังคมแบบอุดมคติ ที่ผู้คนต่างมีความเท่าเทียม ให้ความสำคัญกับการรักษาสิ่งแวดล้อม และมองโลกในแง่ดีอยู่เสมอ ซึ่งเป็นผลมาจากปัจจัยทางสิ่งแวดล้อมที่ชาว Gen Y ได้เติบโตมาในครอบครัวของ Baby Boomer ที่มีความมั่งคั่ง จากยุคที่เศรษฐกิจเติบโตขาขึ้นนั่นเอง
ในทางกลับกัน ผู้บริโภคกลุ่ม Gen Z มักมีนิสัยแบบ ‘Pragmatic’ ที่มองโลกตามความเป็นจริงมากกว่า โดยมักจะให้ความสำคัญกับ ‘ข้อมูลข้อเท็จจริง’ และ ‘ราคาสินค้า’ เนื่องจากชาว Gen Z ส่วนใหญ่เติบโตมาท่ามกลางความไม่แน่นอนของรายได้จากวิกฤตเศรษฐกิจ และความไม่แน่นอนของสังคม . ทั้งหมดนี้อาจสรุปง่าย ๆ ได้ว่าชาว Gen Z มักมีความอ่อนไหวต่อราคาสินค้า (Price Sensitive) เมื่อเทียบกับคุณภาพ ในขณะที่ชาว Gen Y มักมีความอ่อนไหวต่อปัจจัยทางความรู้สึกอื่น ๆ เช่น การมีประสบการณ์ร่วมกับสินค้า เป็นต้น
ขอขอบคุณข้อมูลจาก สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครโทรอนโต https://bit.ly/2VXUrsX
ในปัจจุบัน ถึงแม้สถานการณ์ Covid-19 จะยังไม่คลี่คลาย แต่ก็ต้องยอมรับว่า บริษัทญี่ปุ่นส่วนใหญ่ยังสามารถพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาสได้ ด้วยการออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ที่เน้นฟังก์ชั่น All-in-one เพื่อตอบสนองรูปแบบการทำงานที่เปลี่ยนไปซึ่งคำนึงถึงการใช้งานเป็นสำคัญ วันนี้ SMEs Pro-active by DITP จึงจะพาไปดู ‘เทรนด์สินค้าใหม่ในญี่ปุ่น’ จะมีอะไรบ้าง ไปดูกันเลย
Ecobag Jacket และ Neck pillow Jacket
Ecobag Jacket เป็นสินค้าที่มองผิวเผินอาจจะเหมือนแจ็คเก็ตธรรมดา แต่แท้จริงแล้ว หากดึงผ้าด้านในออกจาก กระเป๋าซิปด้านหลังที่อยู่ภายในแจ็คเก็ตออกมา แล้วเก็บแจ็คเก็ตเข้าไป ก็จะกลายสภาพเป็น กระเป๋ารักษ์โลก ผู้บริโภคส่วนมากคงจะไม่นึกว่าแจ็คเก็ตจะมีฟังก์ชันกลายเป็น Ecobag ได้ด้วย ส่วน Neck pillow Jacket หรือ แจ็คเก็ตที่ใช้เป็นหมอนรองคอได้ ออกมาสำหรับจับกลุ่มตลาดผู้บริโภคที่ต้องเดินทางไปทำงานต่าง สถานที่บ่อยๆ จากการทำงานจากที่ใดก็ได้ ทำให้การเดินทางไปตามที่ต่างๆ เพิ่มมากขึ้นเรื่อย
ชุดเตรียมวัตถุดิบในการทำสลัด (Multi-prep Salad tools set) การแพร่ระบาดของ Covid-19 ทำให้พฤติกรรมการบริโภคของชาวญี่ปุ่นเปลี่ยนไปไม่น้อย ชาวญี่ปุ่นบางส่วนเริ่มมองหาผลิตภัณฑ์ที่ช่วยประหยัดเวลาและค่าใช้จ่าย ทำให้ผลิตภัณฑ์จากแบรนด์ Joseph Joseph อย่างชุดเตรียมวัตถุดิบในการทำสลัด (Multi-prep Salad tools set) ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากเมื่อออกวางจำหน่าย โดยเฉพาะบนโซเชียลมีเดีย (Social Media) โดยจุดเด่นของผลิตภัณฑ์นี้ คือ สามารถเตรียมผักสลัดได้ถึง 4 รูปแบบ ทั้งสะเด็ดน้ำ ขูด หั่นแบบบาง และหั่นแบบเส้น ซึ่งสามารถใช้งานได้อย่างสะดวกและง่ายดาย
ปากกาลูกลื่น 9 ฟังก์ชั่นการใช้งาน ในปัจจุบัน ผู้บริโภคชาวญี่ปุ่นส่วนใหญ่นั้นเริ่มให้ความสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ทำให้มีแนวโน้มเลือกซื้อสินค้าที่มีความคุ้มค่า เน้นการใช้งานได้อย่างหลากหลายและยาวนานยิ่งขึ้น อย่างเช่นการออกแบบผลิตภัณฑ์ ‘ปากกาลูกลื่น 9 ฟังก์ชั่นการใช้งาน’ ของบริษัท Desired Line Studio ซึ่งสามารถตอบโจทย์แนวคิดข้างต้นได้เป็นอย่างดี โดยความโดดเด่นของปากกาอยู่ที่การใช้งานได้หลากหลายฟังก์ชั่น อาทิ สามารถเป็นทั้งไขควง ไม้บรรทัด อุปกรณ์เปิดขวด หรือใช้วัดระดับน้ำ เป็นต้น ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่า การนำความต้องการของผู้บริโภคมาประยุกต์ใช้ในการออกแบบจะสามารถเพิ่มมูลค่าและสร้างความน่าสนใจของผลิตภัณฑ์นั้นได้อย่างคาดไม่ถึง
ขอขอบคุณข้อมูลจาก สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโตเกียว https://bit.ly/3B6bJD1
ภาพรวม ‘ตลาดสัตว์เลี้ยง’ ของเกาหลีนั้นเติบโตอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากแนวโน้มการอาศัยอยู่คนเดียว และสังคมผู้สูงอายุในเกาหลีที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น รวมถึงการทำงานจากที่บ้าน (Work from home) ในช่วง Covid-19 จึงทำให้ชาวเกาหลีนิยมเลี้ยงสัตว์เพื่อเป็นเพื่อนช่วยคลายเหงา นอกจากนี้ ส่วนใหญ่ยังให้ความสำคัญสัตว์เลี้ยงเสมือนเป็นหนึ่งในสมาชิกของครอบครัว (Pet-Humanization) ซึ่งเป็นเหตุทำให้ ‘ตลาดผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับสัตว์เลี้ยง’ เติบโตตามไปด้วย โดยเฉพาะ ‘ผลิตภัณฑ์ดูแลสัตว์เลี้ยงที่ใช้เทคโนโลยี’ หรือ ‘Pet-Tech’ ที่มีการใช้เทคโนโลยีอย่าง IoT, AI หรือ Big Data เข้ามาเป็นส่วนช่วยในการดูแลสัตว์เลี้ยง จนทำให้เกิดผลิตภัณฑ์ต่างๆ มากมาย อาทิ อุปกรณ์ติดตามพฤติกรรมสัตว์เลี้ยงตั้งแต่แรกเกิด เครื่องมือที่ใช้ในการรับรู้สถานะทางอารมณ์ของสัตว์เลี้ยงผ่านการวิเคราะห์ด้วย Big Data เป็นต้น
ตลาดผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับสัตว์เลี้ยง หรือธุรกิจบริการต่างๆ ในประเทศเกาหลีใต้นั้นมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง จากข้อมูลวิจัยของ Korea Rural Economic Institute (KREI) คาดการณ์ว่า ในปี 2027 จะมีมูลค่าการเติบโตถึง 6 พันล้านวอน หรือประมาณ 168.97 ล้านบาท นอกจากนี้ ค่าใช้จ่ายอาหารสัตว์เลี้ยงเฉลี่ยต่อตัวของเกาหลีในปี 2021 อยู่ที่ 135 ดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นเงินไทยราวๆ 4,400 บาทเลยทีเดียว โดยผลิตภัณฑ์ Pet-Tech ในเกาหลีที่ได้รับความนิยมมากที่สุด ได้แก่ เครื่องให้อาหารอัตโนมัติ เครื่องตรวจสอบ ของเล่นอัตโนมัติ เครื่องตรวจสุขภาพและอุปกรณ์ออกกำลังกาย และ GPS ตามลำดับ ซึ่งมีทิศทางเดียวกับความต้องการผลิตภัณฑ์ Pet-Tech ในตลาดเกาหลีอีกด้วย
ตลาดผลิตภัณฑ์ดูแลสัตว์เลี้ยงในเกาหลีนั้นมีการเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นโอกาสที่ดีในการส่งออกสำหรับผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะสินค้าที่มีคุณภาพ หรือสินค้าที่มีความพิเศษ ร่วมกับการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาปรับใช้ ก็จะสามารถเพิ่มข้อได้เปรียบและเพิ่มโอกาสทางการค้าได้มากขึ้น อาทิ ผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์เลี้ยงเพื่อสุขภาพ (Functional Pet Food) เป็นต้น นอกจากนี้ ผู้ประกอบการไทยสามารถขอรับการสนับสนุนจากโครงการ SMEs Pro-active ผ่านการเข้าร่วมงานแสดงสินค้า/บริการในต่างประเทศได้ เพื่อเป็นการเพิ่มโอกาสทางการค้าและขยายตลาดส่งออกได้อีกด้วย
ขอขอบคุณข้อมูลจาก สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโซล https://www.ditp.go.th/ditp_web61/article_sub_view.php?filename=contents_attach/751405/751405.pdf&title=751405&cate=413&d=0&fbclid=IwAR2npbZ2-v1wJ1qI7n7_qg-ptzL3NTUAlDjVf8i4NQxtMNI4vd-ge3Qc9GM
Trade Fair สินเชื่อเพื่อร่วมงานแสดงสินค้า สนับสนุนให้ SMEs ที่ประกอบธุรกิจส่งออกสามารถเข้าร่วมงานแสดงสินค้าทั้งในหรือต่างประเทศได้
กลุ่มลูกค้าเป้าหมาย
วงเงิน
อัตราดอกเบี้ย
SMEs SHIFT UP TO GLOBAL คือ หลักสูตรที่ให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องการส่งออกสินค้าไปยังต่างประเทศ พร้อมอัปเดตสถานการณ์การค้าโลกในปัจจุบัน หลัง COVID-19 ตอบโจทย์ทุกคำถามที่คุณอยากรู้ จากวิทยากร/ ผู้เชี่ยวชาญสถาบันชั้นนำที่มีประสบการณ์ทำงานด้านการส่งออก ฝ่ายสนับสนุนด้านการส่งออกและสิทธิประโยชน์ต่างๆ พร้อมชี้แนะเทคนิคการเจรจาธุรกิจให้ประสบความสำเร็จในยุค Next Normal และกิจกรรม Workshop
📍 อบรมออนไลน์ผ่าน Zoom Meeting
ระหว่างวันที่ 23-24 มี.ค. และ 30-31 มี.ค.65 (4 วัน)
📣 รับจำนวนจำกัด ลงทะเบียนอบรม ได้ที่ https://bit.ly/shiftup3 หรือสแกน QR Code ได้ที่ภาพ
💰ค่าใช้จ่าย (ไม่รวม Vat)
- สมาชิก ส.อ.ท. 6,500 บาท/บริษัท
- ไม่เป็นสมาชิก ส.อ.ท. 8,000 บาท/บริษัท
**สมัคร 1 บริษัท สามารถเรียนได้ 2 ท่าน
☎️ สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สถาบัน SMI โทร. 02-345-1108, 1243
Line OA : @SMIPAGE
ธันวาคม 64 : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ ได้จัดประชุมคณะกรรมการโครงการ SMEs Pro-active ครั้งที่ 4/2564 (54) เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2564 ที่ผ่านมา เพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการ SMEs ขยายช่องทางการค้ารูปแบบใหม่ๆ โดยเลือกกิจกรรมที่จะเข้าร่วมด้วยตนเองตามกลยุทธ์ทางการตลาดของบริษัท ซึ่งที่ประชุมมีมติอนุมัติการสนับสนุนผู้ประกอบการกว่า 100 ร้อย เข้าร่วม 50 กิจกรรมทั่วโลก วงเงินสนับสนุนรวม 18,860,000 บาท ครอบคลุมทั้งการเข้าร่วมงานแสดงสินค้า/บริการในต่างประเทศ (Overseas Trade Fair) กิจกรรมสร้างโอกาสทางการค้าและเครือข่ายทางธุรกิจในต่างประเทศ (Business Opportunities & Partnership : BOP) และงานแสดงสินค้า/บริการเสมือนจริงในต่างประเทศ (Virtual Exhibition) โดยประเภทสินค้าที่ได้รับการอนุมัติมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ สินค้าไลฟ์สไตล์ สินค้าอุตสาหกรรม และสินค้าอาหาร เป็นกิจกรรมในภูมิภาคอาเซียนมากที่สุดร้อยละ 35 รองลงมาเป็นภูมิภาคเอเชียตะวันออก ร้อยละ 27
งานแสดงสินค้า/บริการในต่างประเทศ (Overseas Trade Fair) ที่ได้รับการอนุมัติที่ได้รับความนิยมจากผู้ประกอบการ อาทิ (1) AMBIENTE, FRANKFURT ณ นครแฟรงก์เฟิร์ต ประเทศเยอรมนี งานแสดงสินค้าเครื่องใช้ในครัวเรือนและสินค้ากลุ่ม LIFESTYLE ที่ใหญ่ที่สุดในโลก (2) ALIMENTARIA, BARCELONA ณ เมืองบาร์เซโลนา ประเทศสเปน งานแสดงสินค้าเกี่ยวกับอาหารและเครื่องดื่มระหว่างประเทศที่มีความสำคัญมากที่สุดแห่งหนึ่งในยุโรป (3) FOOD & HOTEL ASIA (FOOD & BEVERAGE) ณ ประเทศสิงคโปร์ เป็นงานแสดงสินค้าอาหาร เบเกอรี่ เครื่องดื่ม สินค้าเกี่ยวกับโรงแรม และบริการด้านอาหาร งานแสดงสินค้า/บริการเสมือนจริงในต่างประเทศ (Virtual Exhibition) ที่ได้รับการอนุมัติ อาทิ HKTDC.COM SOURCING แพลตฟอร์มของผู้จัดงานแสดงสินค้าที่รวบรวมสินค้าหลากหลายประเภท เพื่อเชื่อมต่อบริษัทของผู้ผลิตสินค้ากับคู่ค้าจากทั่วโลก และช่วยอำนวยความสะดวกในการเชื่อมโยงธุรกิจ รวมถึงเป็นช่องทางในการประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์ กระตุ้นยอดขาย และการจับคู่ทางธุรกิจ
ด้วยปัจจุบันสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ยังคงส่งทบกระทบโดยตรงต่อการเข้าร่วมงานแสดงสินค้าในต่างประเทศ ที่ประชุมคณะกรรมการฯ เห็นชอบการขยายระยะเวลาในการช่วยเหลือเยียวยาผู้ประกอบการที่ขอรับการสนับสนุนกิจกรรมภายใต้โครงการฯ ถึงเดือน มิถุนายน 2565 เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถยกเลิกการเข้าร่วมกิจกรรมโดยไม่เสียสิทธิ์ หรือเข้าร่วมงานโดยใช้เอเจนต์ ล่าม หรือผู้แทน เป็นผู้เข้าร่วมงานได้
สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจเข้าร่วมกิจกรรมส่งเสริมการค้าในต่างประเทศสามารถสมัครเข้าร่วม โครงการส่งเสริมและเพิ่มศักยภาพวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs Pro-active) โดยโครงการสนับสนุนการเข้าร่วมงานแสดงสินค้า/บริการในต่างประเทศ (Overseas Trade Fair) วงเงินสนับสนุนสูงสุด 200,000 บาท จำนวน 6 ครั้ง กิจกรรมสร้างโอกาสทางการค้าและเครือข่ายธุรกิจในต่างประเทศ วงเงินสนับสนุนสูงสุด 200,000 บาท จำนวน 6 ครั้ง และงานแสดงสินค้า/บริการเสมือนจริงในต่างประเทศ (Virtual Exhibition) วงเงินสนับสนุนสูงสุด 50,000 บาท จำนวน 6 ครั้ง อีกด้วยเช่นกัน โดยการสมัครรอบที่ 1/2565 นี้จะปิดรับสมัครในวันที่ 20 มกราคม 2565 สามารถขอรับการสนับสนุนงานที่จัดขึ้นตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2565 - กันยายน 2565
ศึกษาข้อมูลและงานแสดงสินค้าที่น่าสนใจและได้รับการรับรองจากโครงการฯได้ที่เว็บไซต์ https://smesproactive.ditp.go.th/ หรือสอบถามรายละเอียดได้ที่ 0-2507-7783 หรือ 0-2507-7786
โครงการ SMEs Pro-active ผนึกกำลังพันธมิตรรัฐ-เอกชน เสริมแกร่งผู้ประกอบการ SMEs ไทยขยายสู่ตลาดต่างประเทศ แนะนำมาตรการการเงินและช่องทางเสริมความรู้จากหลักสูตร NEA E-academy สมัครใช้ประโยชน์ได้ตั้งแต่บัดนี้ – กันยายน 65
กันยายน 2564 สมาคมธนาคารไทย หนึ่งในพันธมิตรของโครงการส่งเสริมและเพิ่มศักยภาพวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ SMEs Pro-active โดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) ได้ร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทยและกระทรวงการคลังออก ‘มาตรการสินเชื่อฟื้นฟูเพิ่มเติม’ เพื่อช่วยเหลือเยียวยาและเสริมความเข้มแข็งให้กับผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ประกอบด้วย การรักษาสภาพคล่องและเติมเงินใหม่ให้กับลูกหนี้ SMEs และลูกหนี้รายย่อย รวมถึงมาตรการสนับสนุนการแก้ไขหนี้เดิมอย่างยั่งยืน โดยผู้ประกอบการสามารถติดต่อขอรับบริการโดยตรงจากธนาคารพาณิชย์ที่เข้าโครงการ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
นอกจากมาตรการส่งเสริมตลาดและมาตรการทางการเงินแล้ว กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) ยังให้บริการอบรมออนไลน์ (e-learning) ด้านการค้าระหว่างประเทศบนแพลตฟอร์ม E-academy โดยสถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่ (NEA) ซึ่งมีหลักสูตรที่น่าสนใจและเหมาะกับสถานการณ์ปัจจุบัน อาทิ การบริหารความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน การทำการค้าระหว่างประเทศในยุค New Normal เป็นต้น ผู้สนใจสามารถดูรายละเอียดได้ที่เว็บไซต์ https://e-academy.ditp.go.th โดยไม่มีค่าใช้จ่าย
SMEs Pro-active เป็นโครงการที่ DITP ดำเนินการร่วมกับพันธมิตรภาคเอกชน ได้แก่ หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย สนับสนุนผู้ประกอบการ SMEs ไทยเข้าร่วมงานแสดงสินค้าและบริการในต่างประเทศได้ด้วยตนเอง เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในตลาดโลก แบ่งการสนับสนุน 3 รูปแบบ ได้แก่ การเข้าร่วมงานแสดงสินค้าและบริการในต่างประเทศ (Overseas Trade Fair) การเข้างานแสดงสินค้าเสมือนจริงในต่างประเทศ (Virtual Exhibition) และการเข้าร่วมกิจกรรมสร้างโอกาสทางการค้าและเครือข่ายธุรกิจในต่างประเทศ วงเงินสนับสนุนสูงสุด 200,000 บาทต่อครั้งต่อบริษัท โดยในโครงการระยะที่ 3 (ปี 2562-2565) อนุมัติผู้ประกอบการเข้าร่วมกิจกรรมไปแล้ว 2,022 ราย เข้าร่วมกิจกรรมในต่างประเทศ เกือบ 700 งาน
งานแสดงสินค้าและบริการที่มีผู้ประกอบการเข้าร่วมสูงสุด แบ่งกลุ่มตามประเภทสินค้าได้ ดังนี้ กลุ่มสินค้าอาหาร อาทิ Food & Hotel Asia ประเทศสิงคโปร์ Myanmar Foodbev กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม อาทิ Automechanika Shanghai ประเทศจีน Cambodia Architect & Décor กลุ่มสินค้าไลฟ์สไตล์ อาทิ Ambiente ประเทศเยอรมนี Maison & Objet ประเทศฝรั่งเศส กลุ่มสินค้าแฟชั่น อาทิ TEXWORLD ประเทศฝรั่งเศส MidEast Watch & Jewelry Show ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ กลุ่มสินค้าสุขภาพและความงาม อาทิ China Beauty Expo ประเทศจีน Cambodia Health & Beauty Expo และกลุ่มธุรกิจบริการ อาทิ Mipcom, Cannes ประเทศฝรั่งเศส Myanmar Retail Sourcing Expo เป็นต้น
ผู้ประกอบการที่สนใจเข้าร่วมโครงการ SMEs Pro-active สามารถตรวจสอบคุณสมบัติ ศึกษาข้อมูลและงานแสดงสินค้าที่น่าสนใจและได้รับการรับรองจากโครงการฯ ได้ที่เว็บไซต์ https://smesproactive.ditp.go.th/ หรือสอบถามรายละเอียดได้ที่ 02-507-7783 หรือ 02-507-7786
ปฏิเสธไม่ได้ว่า พฤติกรรมการใช้ชีวิตของคนในสังคมปัจจุบันนั้นมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก ทั้งรูปแบบการทำงาน การดำเนินชีวิต การรับประทานอาหาร โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ส่งผลให้ผู้คนตระหนักถึงการให้ความสำคัญกับสุขภาพของตนเองมากขึ้น รวมถึงการบริโภคอาหารอย่างเหมาะสมเพื่อสุขภาพที่ดีขึ้น
กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) โดยสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครซิดนีย์ เปิดเผยว่า จากรายงานวิจัยล่าสุด A Healthier New Normal ชาวออสเตรเลียมีการปรับเปลี่ยนแนวคิดไปสู่การดูแลสุขภาพแบบองค์รวมโดยพิจารณาถึงคุณประโยชน์ที่จะได้รับจากการบริโภคอาหารมากขึ้น ซึ่งแนวโน้มทิศทางการบริโภคเพื่อสุขภาพของชาวออสเตรเลีย มีดังนี้
ทิศทางที่ 1 การดูแลสุขภาพทั้งร่างกายและจิตใจ
การดำเนินชีวิตรูปแบบใหม่ (New Normal) ส่งผลให้ชาวออสเตรเลียมีแนวโน้มการบริโภคสินค้าที่ช่วยบำบัดทั้งด้านสุขภาพกายและจิตใจเพิ่มขึ้น โดยผู้บริโภคที่ให้ความสำคัญกับสุขภาพกาย ร้อยละ 62 ระบุว่า ข้อมูลทางโภชนาการของผลิตภัณฑ์มีผลต่อการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้า ส่วนผู้บริโภคที่หันมาให้ความสำคัญกับสุขภาพจิตใจได้มีผลทำให้สินค้าในกลุ่ม Indulgences เช่น ไอศกรีม เค้ก เป็นต้น และสินค้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ขยายตัวเพิ่มขึ้น
ทิศทางที่ 2 ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากพืช (Plant-Based) ได้รับความนิยมมากขึ้น
ผู้บริโภคออสเตรเลียนั้นให้ความสำคัญกับความสมดุลในการบริโภคอาหาร โดยลดการรับประทานอาหารจากเนื้อสัตว์ และเพิ่มการบริโภคผลิตภัณฑ์ที่ทำจากพืช (Plant-Based) โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์นมจากธัญพืช เช่น นมอัลมอนด์ นมถั่วเหลือง และนมข้าวโอ๊ตมีอัตราการขยายตัวอย่างมาก อีกทั้งในปัจจุบันผลิตภัณฑ์ที่ทำจากพืชก็มีหลากหลายรูปแบบที่ทำให้บริโภคง่ายและสะดวกขึ้น เช่น อาหารว่างและอาหารเสริมชนิดผง อาหารเช้าโปรตีนสูงผสมแร่ธาตุแบบพกพา โปรตีนแท่ง เป็นต้น
นอกจากนี้ การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้ความต้องการซื้ออาหารสดโดยเฉพาะผักและผลไม้เพิ่มขึ้นร้อยละ 27 ซึ่งสะท้อนถึงความต้องการสารอาหารจากธรรมชาติและคุณค่าโภชนาการสูง รวมถึงแนวโน้มการปรุงอาหารรับประทานเองที่บ้านเพิ่มขึ้นอีกด้วย
ทิศทางที่ 3 แนวคิด ‘น้อยแต่มาก’ (Less is more) กำลังมาแรง
ในปัจจุบันผู้บริโภคออสเตรเลียมักเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่มีคุณสมบัติเด่นและไม่มีส่วนผสมของน้ำตาล เกลือ ไขมัน สารปรุงแต่งสี กลิ่นและรส ด้วยเหตุนี้มีผลทำให้ผู้ผลิตอาหารและเครื่องดื่มในออสเตรเลียปรับปรุงและพัฒนาสินค้าเพื่อตอบสนองความต้องการดังกล่าว เช่น การลดปริมาณน้ำตาล หรือการใช้สารแทนความหวานตามธรรมชาติ ส่งผลให้สินค้าประเภทน้ำตาลต่ำหรือไม่มีส่วนผสมของน้ำตาล (Less/No หรือ Reduce sugar) ขยายตัวถึงร้อยละ 17
กรมส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครซิดนีย์ ยังให้ข้อเสนอแนะสำหรับผู้ประกอบการไทยในการเจาะตลาดสินค้าเพื่อสุขภาพในช่วงการดำเนินชีวิตรูปแบบใหม่ (New Normal) ได้แก่ (1) เจาะเทรนด์ตลาดผู้บริโภคกลุ่มย่อย โดยเน้นขยายรายการสินค้าหลักและให้คำนึงถึงส่วนผสมเป็นสำคัญ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค (2) ทำความเข้าใจตลาดและกำหนดกลุ่มเป้าหมายให้ชัดเจน โดยนำเสนอคุณประโยชน์และส่วนผสมของสินค้าบนบรรจุภัณฑ์เพื่อกระตุ้นการรับรู้แก่กลุ่มเป้าหมาย (3) ใช้กลยุทธ์การร่วมมือกันทางการตลาดโดยจจับคู่กับแบรนด์ที่มีการเติบโตสูงหรือมีกลุ่มเป้าหมายเดียวกัน เพื่อนำเสนอสินค้าอย่างหลากหลายมิติ
งานแสดงสินค้าเพื่อสุขภาพในออสเตรเลียที่น่าสนใจ อาทิ Fine Food Australia, Melbourne ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 8 - 11 มีนาคม 2565 และ Naturally Good Expo, Sydney ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 6 - 7 มิถุนายน 2565 เป็นต้น ผู้ประกอบการที่สนใจสามารถสมัครเข้าร่วมโครงการ SMEs Pro-active ซึ่งสนับสนุนวงเงินในการเข้าร่วมงานแสดงสินค้าและบริการในต่างประเทศ (Overseas Trade Fair) สูงสุด 200,000 บาทต่อครั้ง จำนวน 6 สิทธิ์ และยังสนับสนุนวงเงินในการเข้าร่วมงานแสดงสินค้าเสมือนจริงในต่างประเทศ (Virtual Exhibition) สูงสุด 50,000 บาทต่อครั้ง จำนวน 6 ครั้ง สามารถตรวจสอบคุณสมบัติ ศึกษาข้อมูลและกิจกรรมในตลาดต่างประเทศที่ได้รับการรับรองได้ที่เว็บไซต์ https://smesproactive.ditp.go.th/ หรือ Facebook Page : SMEs Pro-active by DITP สอบถามรายละเอียดได้ที่ 02-507-7783 หรือ 02-507-7786
กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) เปิดเผยว่า การส่งออกไทยในเดือนมิถุนายน 2564 มีมูลค่า 23,699.43 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 782,081.19 ล้านบาท) ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 43.82 สถิติใหม่สูงสุดรอบ 11 ปี โดยสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับเป็นหนึ่งในสินค้าที่มีอัตราการขยายตัวสูงถึงร้อยละ 90.48 โอกาสดีขยายการส่งออกไปยังจีนและสหรัฐอเมริกา
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองชิงต่าว เปิดเผยว่า การควบคุมการระบาดของไวรัสโควิด-19 ของจีนที่มีประสิทธิภาพส่งผลให้ความต้องการในการบริโภคภายในประเทศปรับตัวสู่ทิศทางที่ดีขึ้นทั้งสินค้าอุปโภคบริโภคและสินค้าฟุ่มเฟือย ทำให้ภาพรวมของตลาดอัญมณีและเครื่องประดับเริ่มมีการเติบโตและมีแนวโน้มพัฒนาในทางที่ดีขึ้น
ภาพรวมในปี 2564 ตลาดสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับของจีนขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 48 หรือมีมูลค่าประมาณ 346,000 ล้านหยวน (ประมาณ 1.73 ล้านล้านบาท) ซึ่งสัดส่วนของการบริโภคสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับจากทั่วโลกของชาวจีนสูงถึงร้อยละ 70-75 เนื่องจากผู้บริโภคชาวจีนส่วนใหญ่ไม่สามารถเดินทางท่องเที่ยวในต่างประเทศได้ โดยผู้บริโภคกลุ่มมิลเลนเนียล (Millennials) ครองสัดส่วนถึงร้อยละ 70 และเลือกซื้อผ่านช่องทางอีคอมเมิร์ช (E-Commerce) หรือแพลตฟอร์มออนไลน์เป็นหลัก
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครนิวยอร์ก ยังให้ข้อมูลว่า ความต้องการสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน เนื่องจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลสหรัฐฯ ประกอบกับการเร่งดำเนินการแจกจ่ายวัคซีนให้กับประชาชนทำให้หลายพื้นที่ในสหรัฐฯ เริ่มเข้าสู่สภาวะปกติ ส่งผลให้ชาวอเมริกันกล้าที่จะจับจ่ายใช้สอยและมีความต้องการบริโภคสินค้าเพิ่มมากขึ้น
โดยชาวอเมริกันมักนิยมเครื่องประดับที่มีเอกลักษณ์เฉพาะและสวมใส่ได้ทุกวัน เช่น แหวนร่วมสมัย แหวนที่ใส่ซ้อนกันหลายวง เป็นต้น อีกทั้งกลุ่มเครื่องประดับโลหะอย่างทองคำก็ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก รองลงมาคือทองคำขาวและทองคำสีชมพู นอกจากนี้ ตลาดเครื่องประดับสำหรับสุภาพบุรุษก็เป็นตลาดที่มีการเติบโตอย่างก้าวกระโดดในช่วงที่ผ่านมา จากข้อมูลของ Euromonitor ระบุว่าในปี 2566 ตลาดเครื่องประดับสำหรับสุภาพบุรุษจะมีการขยายตัวถึง 6.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 217.8 พันล้านบาท) จึงเป็นโอกาสที่ดีในการสร้างแบรนด์หรือเจาะตลาดนี้
การจำหน่ายสินค้าในช่องทางอีคอมเมิร์ช (E-Commerce) มีแนวโน้มที่จะขยายตัวอย่างก้าวกระโดด ผู้ประกอบการไทยควรคำนึงถึงการโฆษณาประชาสัมพันธ์ผ่านทาง Social Media หรือผู้ทรงอิทธิพลในแต่ละแพลตฟอร์มซึ่งสามารถช่วยในเรื่องการเจาะตลาดและขยายกลุ่มลูกค้าได้เป็นอย่างมาก สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครนิวยอร์ก เสนอแนะเพิ่มเติม เช่นเดียวกับประเทศจีนโดยสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองชิงต่าว ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันด้วยอิทธิพลของเทคโนโลยีต่างๆ ผู้บริโภคชาวจีนมักจะค้นหาข้อมูล เปรียบเทียบราคาจากอินเทอร์เน็ตก่อนการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าซึ่งถือเป็นปัจจัยที่ท้าทายสำหรับผู้ประกอบการไทยที่ควรคำนึงถึงและติดตามพฤติกรรมของผู้บริโภค ตลอดจนปรับปรุงพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้โดดเด่นตามกระแสความนิยมของกลุ่มลูกค้าได้อย่างรวดเร็ว
งานแสดงสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับที่น่าสนใจ อาทิ (1) Jewelry Shanghai ณ นครเซี่ยงไฮ้, จีน (2) งาน China International Jewellery Fair ณ กรุงปักกิ่ง, จีน (3) งาน Jewellery & Gem ASIA Hong Kong ณ เมืองฮ่องกง, จีน (4) งาน JCK Las Vegas ณ เมืองลาสเวกัส, สหรัฐอเมริกา (5) งาน ASD Market Week ณ เมืองลาสเวกัส, สหรัฐอเมริกา นอกจากนี้ มีแพลตฟอร์มออนไลน์ที่สามารถเข้าร่วมงานได้โดยไม่ต้องเดินทางไปต่างประเทศ เช่น HKTDC International Sourcing Show เป็นต้น
สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจเข้าร่วมงานแสดงสินค้าสามารถสมัครเข้าร่วม โครงการส่งเสริมและเพิ่มศักยภาพวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs Pro-active) โครงการที่ให้การสนับสนุนผู้ประกอบการ SMEs ไทยเข้าร่วมงานแสดงสินค้าและบริการในงานแสดงสินค้าระดับนานาชาติ ซึ่งสนับสนุนวงเงินในการเข้าร่วมงานแสดงสินค้าและบริการในต่างประเทศ (Overseas Trade Fair) สูงสุด 200,000 บาทต่อครั้ง จำนวน 6 สิทธิ์ และยังสนับสนุนวงเงินในการเข้าร่วมงานแสดงสินค้าเสมือนจริงในต่างประเทศ (Virtual Exhibition) สูงสุด 50,000 บาทต่อครั้ง จำนวน 6 ครั้ง ศึกษาข้อมูลและหลักเกณฑ์โครงการเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์โครงการฯ https://smesproactive.ditp.go.th/ หรือ Facebook Page: SMEs Pro-active by DITP สอบถามรายละเอียดได้ที่ 02-507-7783 หรือ 02-507-7786