ISO 27001:2013
ข่าวและกิจกรรมเกี่ยวกับโครงการ SMEs Pro-active
ปฏิเสธไม่ได้ว่า พฤติกรรมการใช้ชีวิตของคนในสังคมปัจจุบันนั้นมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก ทั้งรูปแบบการทำงาน การดำเนินชีวิต การรับประทานอาหาร โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ส่งผลให้ผู้คนตระหนักถึงการให้ความสำคัญกับสุขภาพของตนเองมากขึ้น รวมถึงการบริโภคอาหารอย่างเหมาะสมเพื่อสุขภาพที่ดีขึ้น
กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) โดยสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครซิดนีย์ เปิดเผยว่า จากรายงานวิจัยล่าสุด A Healthier New Normal ชาวออสเตรเลียมีการปรับเปลี่ยนแนวคิดไปสู่การดูแลสุขภาพแบบองค์รวมโดยพิจารณาถึงคุณประโยชน์ที่จะได้รับจากการบริโภคอาหารมากขึ้น ซึ่งแนวโน้มทิศทางการบริโภคเพื่อสุขภาพของชาวออสเตรเลีย มีดังนี้
ทิศทางที่ 1 การดูแลสุขภาพทั้งร่างกายและจิตใจ
การดำเนินชีวิตรูปแบบใหม่ (New Normal) ส่งผลให้ชาวออสเตรเลียมีแนวโน้มการบริโภคสินค้าที่ช่วยบำบัดทั้งด้านสุขภาพกายและจิตใจเพิ่มขึ้น โดยผู้บริโภคที่ให้ความสำคัญกับสุขภาพกาย ร้อยละ 62 ระบุว่า ข้อมูลทางโภชนาการของผลิตภัณฑ์มีผลต่อการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้า ส่วนผู้บริโภคที่หันมาให้ความสำคัญกับสุขภาพจิตใจได้มีผลทำให้สินค้าในกลุ่ม Indulgences เช่น ไอศกรีม เค้ก เป็นต้น และสินค้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ขยายตัวเพิ่มขึ้น
ทิศทางที่ 2 ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากพืช (Plant-Based) ได้รับความนิยมมากขึ้น
ผู้บริโภคออสเตรเลียนั้นให้ความสำคัญกับความสมดุลในการบริโภคอาหาร โดยลดการรับประทานอาหารจากเนื้อสัตว์ และเพิ่มการบริโภคผลิตภัณฑ์ที่ทำจากพืช (Plant-Based) โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์นมจากธัญพืช เช่น นมอัลมอนด์ นมถั่วเหลือง และนมข้าวโอ๊ตมีอัตราการขยายตัวอย่างมาก อีกทั้งในปัจจุบันผลิตภัณฑ์ที่ทำจากพืชก็มีหลากหลายรูปแบบที่ทำให้บริโภคง่ายและสะดวกขึ้น เช่น อาหารว่างและอาหารเสริมชนิดผง อาหารเช้าโปรตีนสูงผสมแร่ธาตุแบบพกพา โปรตีนแท่ง เป็นต้น
นอกจากนี้ การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้ความต้องการซื้ออาหารสดโดยเฉพาะผักและผลไม้เพิ่มขึ้นร้อยละ 27 ซึ่งสะท้อนถึงความต้องการสารอาหารจากธรรมชาติและคุณค่าโภชนาการสูง รวมถึงแนวโน้มการปรุงอาหารรับประทานเองที่บ้านเพิ่มขึ้นอีกด้วย
ทิศทางที่ 3 แนวคิด ‘น้อยแต่มาก’ (Less is more) กำลังมาแรง
ในปัจจุบันผู้บริโภคออสเตรเลียมักเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่มีคุณสมบัติเด่นและไม่มีส่วนผสมของน้ำตาล เกลือ ไขมัน สารปรุงแต่งสี กลิ่นและรส ด้วยเหตุนี้มีผลทำให้ผู้ผลิตอาหารและเครื่องดื่มในออสเตรเลียปรับปรุงและพัฒนาสินค้าเพื่อตอบสนองความต้องการดังกล่าว เช่น การลดปริมาณน้ำตาล หรือการใช้สารแทนความหวานตามธรรมชาติ ส่งผลให้สินค้าประเภทน้ำตาลต่ำหรือไม่มีส่วนผสมของน้ำตาล (Less/No หรือ Reduce sugar) ขยายตัวถึงร้อยละ 17
กรมส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครซิดนีย์ ยังให้ข้อเสนอแนะสำหรับผู้ประกอบการไทยในการเจาะตลาดสินค้าเพื่อสุขภาพในช่วงการดำเนินชีวิตรูปแบบใหม่ (New Normal) ได้แก่ (1) เจาะเทรนด์ตลาดผู้บริโภคกลุ่มย่อย โดยเน้นขยายรายการสินค้าหลักและให้คำนึงถึงส่วนผสมเป็นสำคัญ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค (2) ทำความเข้าใจตลาดและกำหนดกลุ่มเป้าหมายให้ชัดเจน โดยนำเสนอคุณประโยชน์และส่วนผสมของสินค้าบนบรรจุภัณฑ์เพื่อกระตุ้นการรับรู้แก่กลุ่มเป้าหมาย (3) ใช้กลยุทธ์การร่วมมือกันทางการตลาดโดยจจับคู่กับแบรนด์ที่มีการเติบโตสูงหรือมีกลุ่มเป้าหมายเดียวกัน เพื่อนำเสนอสินค้าอย่างหลากหลายมิติ
งานแสดงสินค้าเพื่อสุขภาพในออสเตรเลียที่น่าสนใจ อาทิ Fine Food Australia, Melbourne ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 8 - 11 มีนาคม 2565 และ Naturally Good Expo, Sydney ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 6 - 7 มิถุนายน 2565 เป็นต้น ผู้ประกอบการที่สนใจสามารถสมัครเข้าร่วมโครงการ SMEs Pro-active ซึ่งสนับสนุนวงเงินในการเข้าร่วมงานแสดงสินค้าและบริการในต่างประเทศ (Overseas Trade Fair) สูงสุด 200,000 บาทต่อครั้ง จำนวน 6 สิทธิ์ และยังสนับสนุนวงเงินในการเข้าร่วมงานแสดงสินค้าเสมือนจริงในต่างประเทศ (Virtual Exhibition) สูงสุด 50,000 บาทต่อครั้ง จำนวน 6 ครั้ง สามารถตรวจสอบคุณสมบัติ ศึกษาข้อมูลและกิจกรรมในตลาดต่างประเทศที่ได้รับการรับรองได้ที่เว็บไซต์ https://smesproactive.ditp.go.th/ หรือ Facebook Page : SMEs Pro-active by DITP สอบถามรายละเอียดได้ที่ 02-507-7783 หรือ 02-507-7786