ISO 27001:2013
ข่าวและกิจกรรมเกี่ยวกับโครงการ SMEs Pro-active
ฟิลิปปินส์เป็นประเทศที่ต้องอาศัยการนำเข้าสินค้าอาหารประเภทต่างๆ สูงถึงร้อยละ 20 เนื่องจากไม่สามารถผลิตอาหารให้เพียงพอความต้องการบริโภคภายในประเทศได้ ซึ่งในแต่ละปี ฟิลิปปินส์นำเข้าสินค้าอาหารเฉลี่ย 3 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ต่อปี (ประมาณ 9.3 หมื่นล้านบาท) และมีแนวโน้มการนำเข้าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตามอัตราการขยายตัวของประชากรที่เพิ่มขึ้นทุกปี
กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) โดยสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงมะนิลา ให้ข้อมูลว่า ในช่วงที่ผ่านมา แม้ตลาดอาหารพร้อมรับประทาน (Ready Meals) จะมีขนาดไม่ใหญ่มากนัก แต่มีแนวโน้มการเติบโตเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากสภาพแวดล้อมของสังคมเมืองที่ขยายตัวหนาแน่นและวิถีชีวิตผู้คนที่เร่งรีบมากขึ้น รวมถึงพฤติกรรมและรูปแบบการรับประทานอาหารของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว โดยต้องการความสะดวกสบายและใช้เวลาน้อยลง อาหารพร้อมรับประทานจึงสามารถตอบโจทย์ผู้บริโภคและเป็นที่ต้องการมากขึ้น
ในปี 2563 แม้จะเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่ยอดจำหน่ายสินค้าอาหารพร้อมรับประทานมีมูลค่าถึง 3,887.3 ล้านเปโซ (ประมาณ 2,520.2 ล้านบาท) ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.4 จากปี 2562 และมีการคาดการณ์ถึงยอดจำหน่ายสินค้าอาหารพร้อมรับประทานว่า จะมีแนวโน้มเติบโตสูงขึ้นเรื่อยๆ ในอีก 5 ปีข้างหน้า โดยในปี 2568 คาดว่า ยอดจำหน่ายสินค้าจะมีมูลค่า 5,363.9 ล้านเปโซ (ประมาณ 3,477.5 ล้านบาท) หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 34.16 โดยประเภทอาหารพร้อมรับประทานที่คาดว่าจะมียอดจำหน่ายสูงสุด 3 อันดับแรก คือ กลุ่มอาหารพร้อมรับประทานที่เก็บรักษาได้นาน (Shelf Stable Ready Meals) อาหารพร้อมรับประทานแช่แข็ง (Frozen Ready Meals) และอาหารพร้อมรับประทานแบบแห้ง (Dried Ready Meals)
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงมะนิลา ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ตลาดอาหารพร้อมรับประทาน (Ready Meals) ในฟิลิปปินส์เป็นกลุ่มที่น่าสนใจและมีแนวโน้มเติบโตเพิ่มมากขึ้น ดังนั้น จึงเป็นโอกาสดีในการขยายการส่งออกสินค้าอาหารพร้อมรับประทานของไทย ที่ผ่านมา สินค้าไทยสามารถแข่งขันได้ดีเนื่องจากชาวฟิลิปปินส์ให้การยอมรับเรื่องคุณภาพมาตรฐานของสินค้าอาหารไทย โดยช่องทางในการส่งออกสินค้าอาหารพร้อมรับประทานมายังฟิลิปปินส์สามารถทำได้ผ่าน 3 ช่องทางหลัก คือ (1) ผ่านผู้นำเข้า/ผู้จัดจำหน่ายที่มีระบบกระจายสินค้าไปสู่ผู้ประกอบการค้าปลีกต่างๆ (2) ผ่านผู้ประกอบการร้านสะดวกซื้อชั้นนำที่มีระบบกระจายสินค้าเป็นของตนเอง (3) ผ่านกิจการค้าปลีกขนาดใหญ่ เช่น ซุปเปอร์มาร์เก็ต และไฮเปอร์มาร์เก็ต อย่างไรก็ตาม ก่อนเข้าสู่ตลาดผู้ประกอบการไทยควรศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูลต่างๆ หรือเข้าร่วมงานแสดงสินค้าในฟิลิปปินส์ เพื่อประชาสัมพันธ์สินค้าและพบปะผู้ประกอบการจากหลายๆ ประเทศซึ่งเป็นการสร้างโอกาสทางการค้าในอนาคตอีกด้วย
งานแสดงสินค้าด้านอาหารที่น่าสนใจ อาทิ งานแสดงสินค้า World Food Expo (Wofex) ณ กรุงมะนิลา, งานแสดงสินค้า Manila Food and Beverage Expo ณ เมืองปาไซ นอกจากนี้ ยังมีแพลตฟอร์มการค้าออนไลน์ด้านอาหาร (Sourcing Marketplace) ที่น่าสนใจอีกด้วย ได้แก่ Saladplate, FHA Match เป็นต้น
ผู้ประกอบการที่สนใจเข้าร่วมกิจกรรมงานแสดงสินค้าในต่างประเทศสามารถสมัครเข้าร่วม โครงการส่งเสริมและเพิ่มศักยภาพของผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม หรือโครงการ SMEs Pro-active โดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งสนับสนุนวงเงินในการเข้าร่วมงานแสดงสินค้าและบริการในต่างประเทศ (Overseas Trade Fair) สูงสุด 200,000 บาทต่อครั้ง จำนวน 6 สิทธิ์ และยังสนับสนุนวงเงินในการเข้าร่วมงานแสดงสินค้าเสมือนจริงในต่างประเทศ (Virtual Exhibition) สูงสุด 50,000 บาทต่อครั้ง จำนวน 6 ครั้ง สามารถตรวจสอบคุณสมบัติ ศึกษาข้อมูลและกิจกรรมในตลาดต่างประเทศที่ได้รับการรับรองได้ที่เว็บไซต์ https://smesproactive.ditp.go.th/ หรือ Facebook Page : SMEs Pro-active by DITP สอบถามรายละเอียดได้ที่ 02-507-7783 หรือ 02-507-7786