ISO 27001:2013
ข่าวและกิจกรรมเกี่ยวกับโครงการ SMEs Pro-active
กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) แนะ 2 มาตรการเยียวยาผู้ประกอบการ SMEs ได้แก่ “มาตรการสินเชื่อฟื้นฟู” ของธนาคารแห่งประเทศไทยร่วมกับกระทรวงการคลัง และ “มาตรการทางศุลกากร” ของกรมศุลกากรเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการไทยที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19
สมาคมธนาคารไทย หนึ่งในพันธมิตรของโครงการส่งเสริมและเพิ่มศักยภาพวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs Pro-active) โดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) ได้เสนอ ‘มาตรการสินเชื่อฟื้นฟู’ เพื่อช่วยเหลือเยียวยาและเสริมความเข้มแข็งให้กับผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 วงเงินรวม 250,000 ล้านบาท ซึ่งดำเนินการโดยธนาคารแห่งประเทศไทยและกระทรวงการคลังร่วมกับธนาคารพาณิชย์ มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อเพิ่มสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจ ลดผลกระทบการจ้างงานและฟื้นฟูการประกอบธุรกิจ โดยจุดเด่นของ ‘มาตรการสินเชื่อฟื้นฟู’ นั้น ได้แก่ (1) สำหรับลูกหนี้เดิม วงเงินกู้ไม่เกิน 30% สูงสุดไม่เกิน 150 ล้านบาท (2) สำหรับลูกหนี้ใหม่ วงเงินกู้สูงสุด 20 ล้านบาท (3) อัตราดอกเบี้ยต่ำ อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 2 ปีแรก ไม่เกิน 2% ต่อปี (4) ยกเว้นดอกเบี้ย 6 เดือนแรก (5) ผ่อนชำระได้นานถึง 5 ปี
ทั้งนี้ วงเงินสินเชื่อ หลักเกณฑ์การพิจารณา และเงื่อนไขอื่นๆ เป็นไปตามข้อกำหนดของแต่ละธนาคาร ผู้ประกอบการที่สนใจสามารถติดต่อขอรับบริการได้โดยตรงจากธนาคารพาณิชย์ที่เข้าร่วมมาตรการ
นอกจากนี้ กรมศุลกากรได้กำหนด ‘มาตรการทางศุลกากร’ เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ดังนี้
(1) การลดเงินเพิ่มเหลือร้อยละ 0.25 ต่อเดือนของอากรที่ต้องเสียหรือเสียเพิ่ม กรณีที่ผู้นำเข้าหรือผู้ส่งออกชำระอากรไว้ไม่ครบถ้วน โดยไม่ได้มีเจตนาหลีกเลี่ยงและได้นำเงินอากรมาชำระต่อกรมศุลกากร ภายในวันที่ 1 มิถุนายน – 30 กันยายน 2564 จะได้รับการลดเงินเพิ่มเหลือร้อยละ 0.25 ต่อเดือนของอากรที่ต้องเสียหรือเสียเพิ่ม
(2) การงดเบี้ยปรับ กรณีที่ผู้นำเข้าหรือผู้ส่งออกไม่เสียอากรภายในกำหนด โดยไม่มีเจตนาหลีกเลี่ยงและได้นำเงินอากรมาชำระต่อกรมศุลกากร ภายในวันที่ 1 มิถุนายน – 30 กันยายน 2564 จะได้รับการงดเบี้ยปรับ
(3) การเพิ่มเติมประเภทหลักประกันในการขอทุเลาการเสียอากร กรณีที่ผู้ขอทุเลายื่นคำขอทุเลาการเสียอากร ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม – 30 กันยายน 2564 สามารถยื่นหลักประกันประเภท (1) หนังสือประกันตนเองของนิติบุคคล หรือ (2) หนังสือค้ำประกันของธนาคารฉบับเดิมสำหรับใบขนส่งสินค้าที่วางประกันด้วยหนังสือค้ำประกันในขั้นผ่านพิธีการศุลกากรไว้แล้ว เพิ่มเติมได้
(4) การลงทะเบียนผ่านระบบทะเบียนผู้มาติดต่อออนไลน์ทาง Customs Trader Portal เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนให้สามารถลงทะเบียนออนไลน์ได้ โดยไม่ต้องเดินทางและไม่ต้องให้ตัวแทนนำบัตรประชาชนหรือหนังสือเดินทางฉบับจริงมาแสดงที่หน่วยบริการรับลงทะเบียน ผู้ประกอบการสามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.customs.go.th หรือ สายด่วน 1164
ทั้งนี้ โครงการส่งเสริมและเพิ่มศักยภาพวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs Pro-active) เป็นโครงการที่ให้การสนับสนุนผู้ประกอบการ SMEs ไทยเข้าร่วมงานแสดงสินค้าและบริการในต่างประเทศได้ด้วยตนเอง เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทยในตลาดโลก โดยสนับสนุนการเข้าร่วมงานแสดงสินค้าและบริการในต่างประเทศ (Overseas Trade Fair) วงเงินสนับสนุนสูงสุด 200,000 บาทต่อครั้ง จำนวน 6 ครั้ง และการเข้างานแสดงสินค้าเสมือนจริงในต่างประเทศ (Virtual Exhibition) วงเงินสนับสนุนสูงสุด 50,000 บาทต่อครั้ง จำนวน 6 ครั้ง รวมถึงสนับสนุนการเข้าร่วมกิจกรรมสร้างโอกาสทางการค้าและเครือข่ายธุรกิจในต่างประเทศ วงเงินสนับสนุนสูงสุด 200,000 บาทต่อครั้ง จำนวน 6 ครั้งเช่นกัน สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจ สามารถศึกษาข้อมูลและหลักเกณฑ์โครงการเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ https://smesproactive.ditp.go.th/ หรือสอบถามรายละเอียดได้ที่ 02-507-7783 และ 02-507-7786